น้ำมันจมูกข้าว ไม่ใช่น้ำมันรำข้าว

เนื้อหา

ในชีวิตที่เร่งรีบทุกวันนี้การบริโภคอาหารที่เหมาะสมให้ได้ครบสัดส่วนตามที่ร่างกายต้องการ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากพอ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ แต่รู้มั้ย…แค่การเลือกทานข้าวที่เป็นอาหารหลักในชีวิตประจำวันของเรา ก็สามารถสร้างความแตกต่างให้กับสุขภาพเราได้แล้ว

เมล็ดข้าว ประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ 

  • ส่วนนอกสุดเป็นเปลือกข้าว 
  • ข้างในเปลือกข้าวจะประกอบไปด้วยส่วนเมล็ดข้าวที่ประกอบด้วยแป้งมีสีขาว 
  • เยื่อหุ้มเมล็ดข้าวเป็นเยื่อบางมีสีออกน้ำตาลห่อหุ้มเมล็ดข้าวอยู่เรียกว่ารำข้าว 
  • และส่วนจมูกข้าวเป็นส่วนที่ต้นข้าวจะเจริญเติบโตงอกออกมาเป็นต้นอ่อน

ในกระบวนการขัดสีข้าวขาวมีผลดีคือ ทำให้สามารถเก็บรักษาข้าวได้นานขึ้น แต่มีผลเสียคือ ทำให้ส่วนของรำข้าวและจมูกข้าวนั้นหลุดออกไปทั้งหมด ซึ่งเป็นส่วนที่อุดมไปด้วยสารอาหารอันทรงคุณค่า ได้แก่ โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่ และใยอาหารต่างๆ และเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเมล็ดข้าว ปัจจุบันจึงเริ่มมีการรณรงค์ให้รับประทานข้าวกล้อง เพื่อให้ยังคงเหลือสารอาหารส่วนนี้ไว้บ้าง และเริ่มมีการสกัดน้ำมันเป็นน้ำมันรำข้าวและน้ำมันจมูกข้าวออกมา ซึ่งน้ำมันทั้งสองตัวนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเหมือนกัน แต่ที่จริงแล้วมีความแตกต่างกันในเรื่องของสารอาหาร และคุณประโยชน์ที่ร่างกายได้รับอย่างชัดเจน

ความแตกต่างระหว่างน้ำมันจมูกข้าวและน้ำมันรำข้าว

น้ำมันรำข้าวคืออะไร ?

น้ำมันรำข้าว สกัดได้จาก รำข้าว (Rice Bran) ซึ่งเป็นเยื่อบางๆ ที่อยู่ใต้เปลือกนอกของข้าว และมีสารสี pigment ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของข้าว ทั้งสีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลแก่ น้ำตาลแดง น้ำตาลม่วง และน้ำตาลเข้มจนเกือบเหมือนสีดำ และในเยื่อหุ้มเมล็ดที่สีต่างกันก็จะพบคุณค่าทางโภชนาการที่ต่างไปด้วย 

น้ำมันจมูกข้าวคืออะไร ?

น้ำมันจมูกข้าว ถึงแม้จะเป็นน้ำมันที่สกัดจากข้าวเหมือนกัน แต่มาจากคนละส่วน ซึ่งจะมีคุณสมบัติ และสารอาหารที่ได้รับแตกต่างจาก น้ำมันรำข้าว ที่สกัดจากเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวโดยสิ้นเชิง 

น้ำมันจมูกข้าว เป็นน้ำมันที่สกัดจากส่วน จมูกข้าว ซึ่งเป็นส่วนปลายเมล็ดค่อนไปทางด้านข้าง ที่เรียกว่า Rice Germ ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นแหล่งรวมสารอาหารมากมายที่จำเป็นสำหรับการงอกของต้นข้าวใหม่ น้ำมันที่สกัดจากส่วนนี้จึงมีความเข้มข้นสูง อุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญของเมล็ดข้าวซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ แกมมา โอไรซานอล (Gamma Oryzanol) และยังเป็นส่วนได้รับความสนใจในการศึกษา วิจัย ด้านโภชนาการ และการแพทย์มากมาย

สารอาหารสำคัญในน้ำมันจมูกข้าว

  • แกมมา โอไรซานอล (Gamma Oryzanol)
    เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีบทบาทในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ฟอสโฟไลปิด (Phospholipid) 
    ประกอบด้วย เลซิติน (Lecithin), เซฟฟาลิน (Cephalin) และ ไลโซเลซิติน (Lysolecithin) ซึ่งช่วยเสริมสร้างเซลล์ประสาทและการทำงานของสมอง
  • โทคอล (Tocols)
    ประกอบด้วยวิตามินอีธรรมชาติ ในรูปของ โทโคเฟอรอล (Tocopherol) และ โทโคไทรอินอล (Tocotrienol) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ และบำรุงผิวพรรณ
  • เซราไมด์ (Ceramide)
    เป็นองค์ประกอบสำคัญของชั้นผิวหนัง ช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น และลดการสูญเสียน้ำจากเซลล์ผิว
  • กรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acids) 
    ได้แก่ Omega-3 (Linolenic acid) และ Omega-6 (Linoleic acid) ช่วยบำรุงสมองและระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • สารอาหารต่าง ๆ โปรตีน วิตามิน
    ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินบีรวม แคโรทีนอยด์ เมลาโทนิน และ แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก เซเลเนียม สังกะสี แมงกานีส และ โครเมียม

คอเลสเตอรอล กับ ไตรกลีเซอไรด์

คอเลสเตอรอล (Cholesterol)

คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เองจากตับและลำไส้ พบมากในไขมันจากสัตว์ คอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย แต่หากมีมากเกินไปก็ส่งผลเสียได้ โดยคอเลสเตอรอลที่สำคัญ มีอยู่ 2 ชนิด คือ

  1. Low Density Lipoprotein – LDL
    ไขมันชนิดไม่ดี หากมีในปริมาณสูงจะไปจับตัวพอกพูนสะสมที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้
  2. Hight Density Lipoprotein – HDL
    ไขมันชนิดดี ช่วยนำคอเลสเตอรอลไปใช้ ลดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดตีบ

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากน้ำตาลและแป้ง โดยร่างกายจะเก็บสะสมไตรกลีเซอร์ไรด์ไว้เพื่อเป็นพลังงาน แต่หากมีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงเกินไป จะเป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงของโรคหลอดเลือดตีบหรืออุดตันได้

แกมมา โอไรซานอล (Gamma Oryzanol) กับสุขภาพ

  1. ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
      • ยับยั้งการสร้างคอเลสเตอรอล โดยการลดการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์คอเลสเตอรอล
      • เพิ่มการเผาผลาญคอเลสเตอรอล
      • ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้
      • เพิ่มระดับ คอเลสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL และลดระดับ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี หรือ LDL
      • ลดระดับ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
    มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า Gamma Oryzanol สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยชาวไทยที่มีระดับคอเรสเตอรอลในเลือดสูง 54 ราย โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับ gamma-oryzanol ขนาดสูง 20,000 ppm (เทียบเท่ากับ 300 mg) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ gamma-oryzanol ขนาดต่ำ 5,000 ppm (เทียบเท่ากับ 75 mg) ทุกวันเป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า
    • กลุ่มที่ได้รับ Gamma Oryzanol 300 mg ต่อวัน สัปดาห์ที่ 8 ระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมัน LDL ลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
    • กลุ่มที่ได้รับ Gamma Oryzanol 75 mg ต่อวัน สัปดาห์ที่ 8 ระดับไขมัน HDL เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลรวมและไขมัน LDL
    จากการศึกษาผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มไม่พบการเกิดพิษต่อตับและไต
  2. ฤทธิ์ในการต้านอักเสบ Gamma Oryzanol มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Free Radical Scavenging Properties) โดยตัวมันทำหน้าที่ทั้ง กำจัดอนุมูลอิสระ และ ยับยั้งกระบวนการส่งสัญญานการสร้างสารก่ออักเสบในร่างกาย (Inhibit NF-kB Pathways) และป้องกันการทำลายเซลล์ นอกจากนี้วิตามินอีที่อยู่ในน้ำมันจมูกข้าวยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้เช่นกัน จึงมีการนำ Gamma Oryzanol มาใช้ประโยชน์ในโรคที่มีการอักเสบมาเกี่ยวข้อง เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
    Gamma Oryzanol ถูกนำมาใช้ในการรักษาปัญหาโรคแผลในกระเพาะอาหาร โดยการออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทควบคุมการหลั่งกรด จากเดิมที่เคยหลั่งกรดออกมามาก ก็ทำให้การหลั่งกรดน้อยลงในระบบย่อยอาหารปกติ มีการศึกษาให้ gamma oryzanol 300 mg เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ ในผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง พบว่า การหลั่งฮอร์โมน Gastrin (ฮอร์โมนที่ควบคุมการหลั่งกรด) ลดลง และยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน อาการแน่นหรืออึดอัดท้องหลังมื้ออาหาร (Post-Prandial Fullness) และอาการไม่สบายท้องส่วนบน (Discomfort in the Upper Abdomen) ลงได้ถึง 75% อีกด้วย
  3. ปรับสมดุลของระบบฮอร์โมนในสตรีวัยทอง ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า หงุดหงิด และอารมณ์แปรปรวน ที่เกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน ซึ่ง วัยทอง (Menopause) หรือ วัยหมดประจำเดือน คือ สภาวะเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเพศหญิง ผู้ที่เข้าสู่วัยทอง ส่วนใหญ่จะมีอายุเฉลี่ยประมาณ 45- 55 ปี ผู้หญิงวัยทองบางคนอาจมีอาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือน ในบางคนอาจมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวันได้
    มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารเสริมที่มี Gamma Oryzanol สามารถช่วยลดอาการที่สัมพันธ์กับภาวะหมดประจำเดือนได้ โดยทำการศึกษาในสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จำนวน 63 ราย ให้รับประทาน gamma oryzanol 300 mg ต่อวัน แล้วติดตามอาการเป็นระยะเวลา 4-8 สัปดาห์ พบว่า Gamma Oryzanol ช่วยลดอาการต่าง ๆ ลงได้ ตามตารางด้านล่าง

Gamma oryzanol

ผลการทดลอง

รับประทานวันละ 300 mg ต่อเนื่องนาน 4-8 สัปดาห์

  • ลดอาการร้อนวูบวาบ 83%
  • ลดอาการใจสั่น 82%
  • ลดอาการแดงบนใบหน้า 81%
  • ลดอาการนอนไม่หลับ 80%
  • ลดอาการปวดศีรษะ 78%
  • ลดอาการซึมเศร้า 77%

ขนาดที่แนะนำ

  • ควรรับประทานน้ำมันจมูกข้าว โดยมีปริมาณหน่วยการบริโภคสาร Gamma Oryzanol 100-300 มิลลิกรัม ต่อวัน 
  • หากหวังผลในเรื่องของการลดระดับคอเลสเตอรอล และลดภาวะหลังหมดประจำเดือน ควรรับประทาน Gamma Oryzanol 300 มิลลิกรัม ต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 4-8 สัปดาห์ขึ้นไป

น้ำมันจมูกข้าวเหมาะกับใคร ?

  1. ผู้ที่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง
  2. ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีความผิดของลำไส้
  3. ผู้ที่มีภาวะหลังจากหมดประจำเดือน สตรีวัยทอง
  4. ผู้ที่ต้องการดูแลสุขภาพทั่วไป

แหล่งอ้างอิง :

  1. Scavariello EM, Arellano DB. Gamma-oryzanol: un importante componente del aceite de salvado de arroz [Gamma-oryzanol: an important component in rice brain oil]. Arch Latinoam Nutr. 1998 Mar;48(1):7-12. Spanish. PMID: 9754398.
  2. Bumrungpert A, Chongsuwat R, Phosat C, Butacnum A. Rice Bran Oil Containing Gamma-Oryzanol Improves Lipid Profiles and Antioxidant Status in Hyperlipidemic Subjects: A Randomized Double-Blind Controlled Trial. J Altern Complement Med. 2019 Mar;25(3):353-358. doi: 10.1089/acm.2018.0212. Epub 2018 Sep 28. PMID: 30265563.
  3. Jung CH, Lee DH, Ahn J, Lee H, Choi WH, Jang YJ, Ha TY. γ-Oryzanol Enhances Adipocyte Differentiation and Glucose Uptake. Nutrients. 2015 Jun 15;7(6):4851-61. doi: 10.3390/nu7064851. PMID: 26083118; PMCID: PMC4488819.
  4. Rondanelli M, Peroni G, Giacosa A, Fazia T, Bernardinelli L, Naso M, Faliva MA, Tartara A, Gasparri C, Perna S. Effectiveness of Rice Germ Supplementation on Body Composition, Metabolic Parameters, Satiating Capacity, and Amino Acid Profiles in Obese Postmenopausal Women: A Randomized, Controlled Clinical Pilot Trial. Nutrients. 2021 Jan 29;13(2):439. doi: 10.3390/nu13020439. PMID: 33572825; PMCID: PMC7911912.

น้ำมันจมูกข้าว เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ แกมมา โอไรซานอล (Gamma Oryzanol) ที่มีบทบาทในการลดระดับคอเลสเตอรอล ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือด ต้านการอักเสบ และปรับสมดุลของฮอร์โมนในสตรีวัยทอง การเลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้สามารถช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวม และลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

Shopping Cart
Scroll to Top